วัดอินทรวิหาร

ประวัติ

เป็นวัดเก่าแก่โบราณ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ   เนื้อที่ 21 ไร่ 1 งาน 86 ตารางวา เดิมเรียกว่า วัดบางขุนพรหมนอก  ได้บูรณะพระอารามขึ้นและนิมนต์เจ้าคุณพระอริญญิก พระสงฆ์ชาวเวียงจันทร์ขึ้นปกครองวัด เจ้าคุณพระอรัญญิกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสนาธุระเคยเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มสร้างหลวงพ่อโต พระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ประจำวัดขึ้น รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดอินทรวิหาร   หลวงพ่อโตพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรสูง 16 วา กว้าง 5 วา 2 ศอก ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมรํสี) เริ่มสร้างเมื่อปี 2410 ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม แต่ลงมาควบคุมการก่อสร้างเอง เมื่อการก่อสร้างดำเนินมาได้เพียงพระนาภี ท่านก็มรณภาพลง ณ ศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหม  การก่อสร้างดำเนินต่อมาด้วยแรงศรัทธา ของเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหารรูปต่อๆ มา ใช้เวลาทั้งสิ้น 60 ปี จึงแล้วเสร็จในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7  นอกจากนี้ยังมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง หอระฆังหลังคาทรงจัตุรมุข พระสังกัจจายน์ พระแม่กวนอิมอวโลกิเตศวร พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ต้นโพธิ์ไทย โพธิ์ลังกาและโพธิ์อินเดีย ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน


ศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน

โดยพระราชรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดได้สร้างศูนย์วิปัสสนากรรมฐานขึ้นใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีศรัทธา ตั้งใจเข้าปฏิบัติธรรมรักษาใจ เพื่อประโยชน์ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในหลักสูตรทั้งหมดที่จัดขึ้นนั้น คงไว้ในแนวสติปัฏฐานสี่ ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้ปฏิบัติมาแต่อดีต มีอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นอาคาร ๕ ชั้น จัดอบรมปฏิบัติธรรมใจกลางกรุงเทพฯ สำหรับบุคคลทั่วไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา หน่วยงานองค์กรต่างๆ และจัดเป็นพิเศษสำหรับเด็กอายุ ๔-๑๘ ปีใจกลางกรุงเทพฯ สำหรับบุคคลทั่วไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา หน่วยงานองค์กรต่างๆ และจัดเป็นพิเศษสำหรับเด็กอายุ ๔-๑๘ ปี  การปฏิบัติธรรมไม่ได้จำกัด ชาติ ศาสนา เพศ และวัย ดังนั้นความหลากหลายของ หลักสูตรที่จัดขึ้น ก็เพื่อให้เหมาะสมกับเวลา โดยเฉพาะท่านที่ยังต้องทำงานประจำอยู่ แต่ถ้าจะให้ได้ผลอย่างแท้จริงแล้ว ต้องหมั่นปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดเวลา โดยเฉพาะเด็ก มาช่วยกันปูพื้นฐานของ จิตใจ ให้ธรรมะคุ้มครอง ชักชวน-อธิบาย ให้เข้าใจด้วยเหตุและผล ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา รู้จักการปฏิบัติธรรม ขั้นพื้นฐานให้มีสติและปัญญาพัฒนาตนเป็นคนดี มีความกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ ประเทศชาติ ซึ่งจะส่งผลให้เป็นเด็กฉลาด เก่ง และแสนดี รู้จักใช้ธรรมะในการแก้ปัญหาด้วยความกล้าหาญ ดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุขในสังคม

หลักสูตรปฏิบัติธรรมเฉลิมมีดังนี้

๑.การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข (๗ วัน) บุคคลทั่วไป

๒.การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข (๗ วัน) อายุ ๔-๑๘ ปี

๓.พัฒนาจิตเจริญปัญญา เสริมสมรรถภาพครู พัฒนา เทคนิคการเรียนการสอน วิชาพระพุทธศาสนา (๑๐ วัน) ครู-อาจารย์

๔.ค่ายความรู้คู่คุณธรรม ฝึกสติภาวนา อำไพเทคนิค ( ๕วัน) อายุ ๗-๑๒ ปี

๕.พื้นฐานการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน (ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์) บุคคลทั่วไป

๖.ค่ายธรรมะสำหรับครอบครัว (๑๐ วัน) พ่อ-แม่-ลูก

๗.ค่ายธรรมะ ฝึกสติพัฒนาจิต สร้างสำนึกกตัญญู ห่างไกลสิ่งเสพติด (๑ วัน) นักเรียน

๘.วิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ฝึกสติ ดูจิต (๗ วัน) บุคคลทั่วไป

 

การเตรียมตัวและกติการะเบียบปฏิบัติ

สำหรับผู้เข้าอบรม

๑.เตรียมมอบ/วาง ภาระต่างๆ ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ และไม่พูดคุยกัน

๒.ตั้งใจเข้าปฏิบัติให้ครบตามกำหนดเวลาของแต่ละหลักสูตร ถ้าไม่ครบไม่ควรสมัคร

๓.มีสุขภาพสมบูรณ์ สุขภาพจิตปกติ ไม่มีอาการทางจิตประสาท หากมีโรคประจำตัว ให้เตรียมยา และแจ้งให้ทราบด้วย

๔.แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวทั้งชุด ไม่มีลวดลาย ไม่บาง ไม่ควรใส่เสื้อไม่มีแขน ถ้าใส่กางเกง ควรเป็นกางเกงขายาวถึงตาตุ่ม ไม่ซักเสื้อผ้าทุกชนิด

๕.เตรียมผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม เครื่องใช้ส่วนตัวที่จำเป็น

๖.รักษาศีลห้าที่เรียกว่าอาชีวัฏฐะมะกะศีล เป็นศีลสำหรับผู้ครองเรือน รับประทานอาหาร ๓ มื้อ

๗.เป็น “ผู้อยู่ง่ายกินง่าย” เกรงใจ และให้เกียรติผู้อื่น และ

๘.ปฏิบัติตามคำแนะนำของวิทยากร

การเดินทาง โดยรถประจำทางสาย 49,33,53,64,3,65,30,32

จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งในโอกาสที่เข้าร่วมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และสร้างถาวรวัตถุไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการวัดอินทรวิหาร โทร.๐-๒๒๘๑-๗๘๑๐ และ ๐-๒๒๘๒-๐๔๖๑ ส่วนผู้สนใจปฏิบัติธรรมขอรับใบสมัครที่ศูนย์วิปัสสนา หรือทาง www.watindaraviharn หรือ โทร.๐-๒๖๖๒-๘๕๕๕๐-๔